Company Logo

Contact Us

Notice

คดีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์หลังจากสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

1 กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด 

    แต่ถ้าตกลงกันว่าให้ฝ่ายใดเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมมิใช่ข้อตกลงให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย แต่ต้องถือว่าอำนาจปกครองยังอยู่กับบิดาและมารดา หากคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองก็ยังตกอยู่อีกคนหนึ่ง

2 กรณีหย่าโดยคำพิพากษาศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด โดยศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบุตรของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการเกินพิพากษาคำขอหรือไม่ แม้โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็พิพากษาเกินคำขอในเรื่องนี้ได้

    แต่ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติไม่เหมาะสมควร หรือภายหลังพฤติการณืได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

 

ตัวอย่าง เหตุในการถอนอำนาจปกครอง 5 กรณี ดังนี้

1 ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

2 ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น เฆี่ยนตีบุตรอย่างรุนแรง ยุยงส่งเสริมให้บุตรลักขโมย สอนบุตรสูบบุรี่ ดื่มสุรา ละทิ้ง ไม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ ลงโทษบุตรอย่างทารุน หรือปล่อยปละละเลยให้บุตรประพฤติชั่ว เป็นต้น

3 ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น กระทำทางเพศต่อบุตร เป็นโรคเอดส์ บังคับให้บุตรเป็นโสเภณี หรือขอทาน ถูกจำคุก เป็นต้น

4 ผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลาย

5 ผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัย

 

บุคคลที่จะสามารถขอได้ ดังนี้

1 ศาลเห็นเอง

2 ญาติของผู้เยาว์

3 อัยการ

 

เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง มีดังนี้

1 สูติบัตรของผู้เยาว์   

2 บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาของผู้เยาว์

3 บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้ร้อง

4 ใบเปลี่ยนชื่อตัว / ชื่อสกุล (ถ้ามี)

5 ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้องกับผู้เยาว์ 

6 บัญชีเครือญาติ

7 มรณบัตร(ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1 ค่าขึ้นศาล 200 บาท

2 ค่าประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

3 ค่าปิดประกาศคำร้อง ตามภูมิลำเนาผู้ร้อง ไม่เกิน 700 บาท

4 ค่าส่งหมายและสำเนาคำร้องไปยังคู่ความอีกฝ่าย ไม่เกิน 700 บาท

 

คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ 

ประเด็น คลอดแล้วทิ้ง ศาลถอนอำนาจปกครองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540 

    ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอดการให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

 

ประเด็น บิดาฟ้องเพิกถอนอำนาจปกครอง แต่บุตรยังไร้เดียงสาอยู่ ศาลเห็นสมควรให้อยู่กับมารดาไปก่อน 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1616/2518

    ตามปกติอำนาจปกครองย่อมอยู่กับบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นภริยาว่า จำเลยทะเลาะกับโจทก์แล้วหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่น ขอให้บังคับจำเลยให้ส่งบุตรคืนแก่โจทก์ ก็เป็นการฟ้องเพื่อจะใช้อำนาจปกครองนั่นเอง แต่ศาลจะให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดาก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(6) หากกรณีส่อแสดงว่าการให้บุตรอยู่กับมารดาจะเป็นการเหมาะสมกว่า(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1225/2508) เมื่อได้ความว่าบุตรอายุเพียง 2 ปี ยังไร้เดียงสาและได้อยู่กับจำเลยด้วยดีคลอดมา ไม่ปรากฏข้อบกพร่องเสียหาย การให้บุตรอยู่กับจำเลยระยะนี้บุตรจะได้รับความอบอุ่นมากกว่าอยู่กับโจทก์ และจำเลยก็รับว่าไม่รังเกลียดที่จะให้โจทก์เยี่ยมเยียน จึงควรให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยผู้เป็นมารดาไปก่อน หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปโจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาบุตรคืนได้ ชั้นนี้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง

 

ประเด็น มิใช่ญาติ จึงไม่มีสิทธิร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2537

   ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของ ก. กับ ส. ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก. ผู้เป็นบิดา ผู้ร้องเป็นน้องของบิดาของ ก. จึงมิใช่ญาติของผู้เยาว์ทั้งสองตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองของมารดาของผู้เยาว์ทั้งสอง และไม่อาจขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง

 

การเปลี่ยนตัวหรือการถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง ตามมาตรา 1521

    ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม ป.พ.พ มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงได้ ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุก และประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521

 

ประเด็น การเริ่มคดีขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองอาจทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็นคำฟ้องก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

    ตามคำร้องของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของภริยา และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ภริยา ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่บัญญัติไว้ แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ภริยา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์ให้คดีสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท และทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครอง และแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องฉบับเดียวกัน

 

ประเด็น อำนาจปกครองจะโอนให้คนอื่นไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้เพิกถอนอำนาจปกครอง

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 66/2495 

    มารดาย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเมื่อบิดาตายไปแล้ว หรือไม่มีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย มารดาจะโอนอำนาจนั้นให้ใครไม่ได้ และผู้อื่นจะเป็นผู้ปกครองเด็กนั้นไม่ได้ก่อนที่มารดาจะถูกอำนาจปกครอง

 

ประเด็น เรื่องความเหมาะสมในการเลี้ยงดู ศาลพิจารณาได้ แม้ไม่ได้ฟ้องแย้งเข้ามาในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2543

    โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง เมื่อจำเลยเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ยิ่งกว่าโจทก์ แม้มิได้ฟ้องแย้ง ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์หลังการหย่าได้

 

ประเด็น บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรากผู้เยาว์ ไม่ผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517

    บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตร เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

 

ประเด็น แม้ไม่มีความประพฤติเสียหาย แต่กลับไม่เคยดูแลบุตร ประกอบกับความประสงค์ของบุตร ศาลเห็นสมควรให้อีกฝ่ายแม้เคยต้องโทษจำคุกเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่เพียงฝ่ายเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2547

    ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ การที่โจทก์จะฟ้องคดีไม่รับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าโจทก์ไม่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 มารดาจำเลยที่ 2 ในเวลาตั้งครรภ์คือระหว่างหนึ่งร้อยแปดสิบวันถึงสามร้อยสิบวันก่อนจำเลยที่ 2 เกิดหรือโจทก์ไม่สามารถเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเหตุอย่างอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2542 แต่โจทก์สืบแต่เพียงว่าไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา อันเป็นการนำสืบลอย ๆ การนำสืบของโจทก์ยังไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1539 วรรคหนึ่ง ที่ให้สันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์

    ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าของผู้ดูแลและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและข้อหาขายหรือให้บริการเทปและวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนั้นโจทก์เป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสงขลา จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำความผิดในข้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีของประชาชน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่าทำให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง กับได้รับความดูถูกเกลียดชัง นับเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (2) (ก) (ข)

    ปัจจุบันเด็กชาย อ. อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้วเด็กชาย อ. ได้มาพักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนทั้งหมดก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่กับจำเลยที่ 1 และย่าที่บ้านของย่าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยิ่งกว่านั้นตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เยาว์ของพนักงานคุมประพฤติ ระบุว่าเด็กชาย อ. ประสงค์จะอยู่กับจำเลยที่ 1 มากกว่าอยู่กับโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาจะไม่ปรากฏว่ามีความประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่โจทก์เป็นข้าราชการต้องย้ายไปรับราชการในที่ต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งเด็กชาย อ. ผู้เยาว์อายุประมาณ 12 ปี ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อคำนึงถึงความผาสุก ความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร การที่ผู้เยาว์อยู่กับจำเลยที่ 1 จะมีผลดีต่อสุขภาพของผู้เยาว์ เห็นควรให้จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย อ. แต่เพียงผู้เดียว

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

    ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ

มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลง ไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึง ความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

มาตรา 1582 ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

   ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้

มาตรา 1583 ผู้ถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนสิ้นไปแล้ว และเมื่อตนเองหรือญาติของผู้เยาว์ร้องขอ ศาลจะสั่งให้มีอำนาจปกครองดังเดิมก็ได้

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้

(1) มารดาหรือบิดาตาย

(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย

(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ

(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน

(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

มาตรา 1567 ผู้ใช้อำนาจการปกครองมีสิทธิ

(1) กำหนดที่อยู่ของบุตร

(2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

(3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

(4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481

ภาค 5 ครอบครัว

มาตรา 32 กรณีที่จะจัดผู้เยาว์ซึ่งไม่มีบิดามารดาใช้อำนาจปกครอง ให้อยู่ในความปกครองก็ดี หน้าที่และอำนาจของผู้ปกครองก็ดี กรณีที่ความปกครองสิ้นสุดลงก็ดี ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้เยาว์ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ อำนาจของผู้ปกครองที่จะจัดการกับทรัพย์สินเช่นว่านั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่

    ส่วนผู้เยาว์ซึ่งมีสัญชาติต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จะจัดให้อยู่ในความปกครองตามกฎหมายไทยก็ได้ ถ้าปรากฏจากพฤติการณ์แห่งกรณีว่า ตามองค์การและระเบียบจัดการแห่งความปกครองซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายต่างประเทศนั้น ไม่เป็นอันคุ้มครองประโยชน์ได้เสียของผู้เยาว์ให้เป็นผลตามสมควรได้

มาตรา 33 การถอนอำนาจปกครอง ให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศซึ่งศาลที่สั่งถอนอำนาจปกครองสังกัดอยู่

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 ในการเริ่มคดีอาจทำเป็น "คำร้องขอ" แบบคดีไม่มีข้อพิพาท หรือทำเป็น "คำฟ้อง" แบบคดีมีข้อพิพาทก็ได้

2 ชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว

3 สถานที่ทิ้งร้างบุตรผู้เยาว์ สถานที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่า ถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิด สามารถยื่นฟ้องต่อศาลในเขตอำนาจได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2540

4 กรณีทำเป็นคำร้อง สามารถยื่นตามภูมิลำเนาผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และสถานที่จดทะเบียนหย่าและบันทึกข้อตกลงหย่าได้

5 ถ้าไม่มีเหตุตามมาตรา 1582 ศาลจะสั่งถอนอำนาจปกครองไม่ได้ แต่ศาลสามารถมีคำสั่งให้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองคนเดียวได้ ตามป.พ.พ.มาตรา 1566(5)

 

     

อัตราค่าบริการว่าความคดีเกี่ยวกับการถอนอำนาจปกครองบุตร  

                

 

ลำดับ        

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

 1  

      

 

ยื่นคำร้องหรือคำฟ้อง / ต่อสู้คดี 

 

-x-


หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.