Company Logo

Contact Us

Notice

คดีฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพภริยาสามี จากการหย่า

    การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากคู่สมรสอีกฝ่าย ต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายถูกเรียกเป็นฝ่ายผิด อีกฝ่ายจึงสามารถเรียกร้องได้ โดยขณะที่อยู่ร่วมกันตลอดมานั้น ฝ่ายเรียกร้องมิได้ประกอบอาชีพ จำเป็นต้องอาศัยอีกฝ่ายอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งการหย่าทำให้ต้องขาดไร้อุปการะจากปกติ จึงทำให้ยากจนลง อีกฝ่ายจึงต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

    ฉะนั้น กรณีคู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เกิน 3 ปี แม้เป็นเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายได้ แต่ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพได้

    ส่วนฝ่ายที่เรียกร้องนั้นต้องมีฐานะที่แย่กว่า ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องด้วย

 

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ

ประเด็น ฐานะของผู้จ่ายเปลี่ยนแปลงไป สามารถยื่นคำร้องขอยกเลิกค่าเลี้ยงชีพได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่  4685/2540

    มาตรา 1526 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้แก่คู่หย่าได้ในกรณีหนึ่งเท่านั้น เมื่อการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง มิได้เป็นบทบัญญัติที่บังคับว่าจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้แต่เฉพาะมีคดีฟ้องหย่าเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีหย่าว่าจำเลยยอมจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และยอมชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือนทุกเดือนตลอดไป ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการยืดขยายหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาออกไปหลังการสมรสสิ้นสุดลง อันเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้ และในมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้นำมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1589/41 เกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูมาใช้บังคับเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพโดยอนุโลม เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าเลี้ยงชีพโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าเลี้ยงชีพอีกก็ได้ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อแสดงว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป จึงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

    แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง จะบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ แต่กรณีที่จำเลยใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามข้อประนีประนอมยอมความ คำร้องของจำเลยจึงมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ดังกล่าว

    กฎหมายมิได้กำหนดให้ดูความเปลี่ยนแปลงของฐานะของคู่กรณีแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีขึ้นภายหลังการหย่า จึงต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทุกชนิดที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีอยู่ขณะที่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อโจทก์ยังมีที่ดินเนื้อที่ 80 ตารางวา พร้อมบ้านสองชั้นมีราคาสูงกว่า 700,000 บาท ส่วนจำเลยมีรายได้เฉพาะเงินเดือนเพียงอย่างเดียวจำนวนเดือนละ 15,380 บาท มีภริยาและบุตรอายุ 13 ปี ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก 1 คน นอกจากนี้ยังเป็นหนี้สหกรณ์ 120,000 บาท โดยไม่มีทรัพย์สินใดๆ เป็นของตนเอง หากจำเลยต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์อัตราร้อยละ 35 ของเงินเดือน เป็นเงินเดือนละ 5,383 บาท จำเลยจะเหลือเงินที่ใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละไม่ถึง 10,000 บาท และเหลือเวลารับราชการอีกเพียง 4 ปี ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบฐานะของโจทก์กับจำเลยแล้วเห็นได้ว่าพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของโจทก์และจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยปัจจุบันจำเลยกลับอยู่ในสภาพที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ จึงถึงเวลาสมควรที่จะสั่งให้จำเลยงดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์แล้ว

 

ประเด็น ต้องเป็นความผิดฝ่ายเดียวเท่านั้น 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1371/2545

    หย่าเพราะความผิดของสามีฝ่ายเดียว สามีฐานะการเงินดีกว่าภริยา ให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภริยาเดือนละ 5,000 บาท

 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2985/2525

    การที่บิดามารดาจำเลยไปแจ้งความต่อตำรวจกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ แม้จะมิใช่เหตุที่โจทก์จะยกขึ้นอ้างเพื่อฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยก็ตาม แต่การที่จำเลยนำตำรวจไปจับกุมโจทก์ตามข้อกล่าวหาของบิดามารดานั้น การกระทำของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของโจทก์ อันเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1516(3)

    โจทก์เพิ่งจะหางานทำได้หลังจากที่แยกกันอยู่กับจำเลยจึงติดใจขอค่าเลี้ยงชีพจากจำเลย จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น กรณีถือได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากการงานตามที่เคยทำอยู่ในระหว่างสมรส เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526

 

ประเด็น สมัครใจแยกกันอยู่ ไม่ถือว่าเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สามารถเรียกค่าเลี้ยงชีพได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4815/2539

    โจทก์ออกจากบ้านที่ปลูกสร้างและอยู่กินกับจำเลย เพราะต้องการพาบิดาซึ่งเป็นโรคหัวใจไปให้พ้นจากบิดาจำเลยซึ่งชอบดื่มสุราแล้วส่งเสียงดัง โจทก์และจำเลยเคยตกลงจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแต่หย่าไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีเงินชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่จำเลยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลย สมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาและการแยกกันอยู่ ดังกล่าวเป็นเวลานับถึงวันฟ้องเกินสามปีแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4/2) การที่จำเลยจะเรียกค่าเลี้ยงชีพได้จะต้องปรากฎว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ดังนี้เมื่อฟังได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นเพราะโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี จำเลยจึงเรียกค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์มิได้

  

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4685/2530

    หย่าโดยความยินยอมและกำหนดค่าเลี้ยงชีพกันเอง ก็มาขอลดหรือเพิ่มค่าเลี้ยงชีพในภายหลังได้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1526 ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/51 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

    สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

มาตรา 1527 ถ้า หย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตตามมาตรา 1516 (7) หรือเพราะเหตุเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 1516(9) คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องออกค่าเลี้ยงชีพให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือฝ่ายที่ เป็นโรคติดต่อนั้นโดยคำนวณค่าเลี้ยงชีพอนุโลมตามมาตรา 1526

มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

มาตรา 1598/39 เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย แสดงว่าพฤติการณ์ รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือ กลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู อีกก็ได้

    ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียง อีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปและพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้อง อาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติมจากทนายความ

1 ต้องปรากฎว่าในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ได้มีการช่วยเหลือเลี้ยงดูกัน หากการหย่าทำให้อีกฝ่ายต้องใช้ชีวิตลำบาก ศาลจึงจะมีคำพิพากษาให้จ่ายได้

2 การจ่ายค่าเลี้ยงจะเป็นเงินก้อนหรือชำระรายเดือนก็ได้ (ฏ.1254/2538)

3 คู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพ จะต้องฟ้อง หรือฟ้องแย้งในคดีฟ้องหย่า จะมาฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพในภายหลังจากคดีฟ้องหย่าไม่ได้ เพราะสิทธิเรียกร้องเรียกค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว

4 กรณีการหย่าโดยความยินยอม ต้องตกลงกันในเรื่องค่าเลี้ยงชีพให้เรียบร้อยพร้อมกับการทำสัญญาหย่า หากไม่ตกลงกันไว้ก็จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้

5 การหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง โดยฝ่ายผู้วิกลจริตหรือเป็นโรคติดต่อจะต้องฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนด้วย จะมาฟ้องในภายหลังไม่ได้

6 กรณีทำสัญญาตกลงเรื่องค่าเลี้ยงชีพกันเอง หากผิดสัญญาก็ฟ้องร้องได้

7 การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ สิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพย่อมสิ้นสุดลง เมื่อฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ

8 สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

 

 

อัตราค่าบริการว่าความคดีฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพ และการหย่า            

                           

 

ลำดับ    

 

รูปแบบคดี

 

ราคา(บาท)

 

1

 

ยื่นคำฟ้อง / ต่อสู้คดี  เรียกค่าเลี้ยงชีพ                                    

 

-x-

 

หมายเหตุ อัตรานี้เฉพาะคดีที่มีเขตอำนาจศาลอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน
นอกเหนือจากนี้ เพิ่มค่าเดินทางกิโลเมตรละ 5 บาท




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.