Company Logo

Contact Us

Notice

ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
กฎหมายกำหนดการจ่าย ดังต่อไปนี้
1 การคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน ให้จ่ายเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
2 ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้จ่ายเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
3 กรณีเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างภายใน 3 วันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ตามมาตรา 70
4 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับรัฐกำหนด 
 
นายจ้างจะหักค่าจ้างไม่ได้ เว้นแต่
1 ชำระภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างจะต้องจ่าย
2 ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน
3 ชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์
4 เงินประกันการทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหาย ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
5 กองทุนเงินสะสม
    โดยข้อ 2 - 5 จะหักได้ไม่เกิน 10 % และหักรวมกันไม่เกิน 1 ใน 5 ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ เว้นแต่ลูกจ้างยินยอม
 
นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง สำหรับวันลา ดังนี้ ตามมาตรา 57 58 59
1 ลาป่วย ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน
2 ลาเพื่อทำหมัน ตามจำนวนวันที่มีสิทธิลา
3 ลาเพื่อรับราชการทหาร ปีหนึ่งไม่เกิน 60 วัน
4 ลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 45 วัน
 
อัตราค่าจ้าง
1 ค่าล่วงเวลา (OT) ของวันทำงานปกติ และค่าทำงานในวันหยุด ได้รับไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้าง / ชั่วโมง ตามมาตรา 61
2 ทำงานในวันหยุดในเวลาปกติ ได้รับไม่น้อยกว่า 1 เท่า ของอัตราค่าจ้าง / ชั่วโมง กรณีที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดนั้นอยู่แล้ว
3 กรณีวันหยุดทีไม่ได้รับค่าจ้างจะได้รับเพิ่มเป็น 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงาน
3 ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ได้รับไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของอัตราค่าจ้าง / ชั่วโมง
4 ลูกจ้างทั้งชายและหญิง มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเท่าเทียมกัน ในงานที่มีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน
 
คำพิพากษาศาลฏีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7646/2542

    โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 จึงขาดไป โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนซึ่ง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดให้นับเป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/6 วรรคท้าย ให้ถือว่า เดือนหนึ่งมี 30 วัน

    โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 37,500 บาท หารด้วย 30 เป็นค่าจ้างวันละ 1,250 บาท แต่เนื่องจาก ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ 56,250 บาท ซึ่งเท่ากับให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างเพิ่มอีก 2 วัน คิดเป็นเงิน 2,500 บาท แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ แต่คำฟ้องโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 มาด้วยแล้ว จึงเห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนนี้ให้โจทก์ด้วย

 

คำถาม : นายจ้างจะบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ได้หรือไม่?

ตอบ ไม่สามารถบังคับได้

เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือ งานนั้นต้องมีลักษณะที่ต้องทำต่อเนื่องกันไป หากไม่ทำงานต่อเนื่องไปจะทำให้งานเสียหาย หากนายจ้างฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 144

 

หลักกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 56 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดดังต่อไปนี้

(1) วันหยุดประจำสัปดาห์ เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างรายวันรายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2) วันหยุดตามประเพณี

(3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี

มาตรา 57 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน

ในกรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาเพื่อทำหมันตามมาตรา 33 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลานั้นด้วย

มาตรา 58 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามมาตรา 35 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน

มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน

มาตรา 61  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา 62  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้

(1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา 63  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

มาตรา 68  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึงค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบและจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย

มาตรา 69  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณชั่วโมงทำงานล่วงเวลาในกรณีที่นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติเป็นสัปดาห์ ให้นับวันหยุดตามประเพณีวันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลา เป็นวันทำงาน

มาตรา 70 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

(2) ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้าง นอกจาก (1) ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน

(3) ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

มาตรา 77 ในกรณีที่นายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมีข้อตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามมาตรา 54 มาตรา 55 หรือการหักเงินตามมาตรา 76 นายจ้างต้องจัดทำเป็นหนังสือและให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในการให้ความยินยอมหรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ




Powered by Joomla!®. Designed by: joomla 1.6 templates web hosting Valid XHTML and CSS.